ตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจ จากนักท่องเที่ยว องค์กรของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว นักอนุรักษ์ และบุคคลทั่วไปที่รักธรรมชาติ และต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน การมองตลาดการท่องเที่ยวจึงมีสองด้าน คือ ด้านตลาดที่ต้องการมีสิ่งดึงดูดใจใหม่ๆ ที่เป็นเหมือนผลิตภัณฑ์ (Product) ในการเสนอขายกับด้านที่ให้ตลาดเป็นสื่อนำคนเข้าไปสัมผัส เรียนรู้ และร่วมรักษาทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการประสานแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน ภายใต้กรอบความต้องการโดยรวมของประเทศเป็นหลัก
แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นทรัพยากรที่มีความอ่อนไหว อาจได้รับผลกระทบได้ง่าย ดังนั้น กลยุทธ์ด้านการตลาดจึงเป็นกลยุทธ์ที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการจัดการและการพัฒนา ที่มีการดำเนินการแล้วอย่างมีคุณภาพ โดยต้องจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างความสามารถในการรองรับของพื้นที่กับปริมาณนักท่องเที่ยว ทั้งนี้การตลาดจะต้องพิจารณาการกระจายตัวที่เหมาะสมของอุปสงค์ และสนับสนุนกลยุทธ์ด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย
การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นกระบวนการที่ต้องจัดทำขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมให้ตลาดเป็นตลาดที่มีคุณภาพ และให้การท่องเที่ยวสอดคล้องกับความต้องการ หรือความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น การส่งเสริมการตลาดจึงไม่ใช่การพยายามเพิ่มปริมาณของนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว หากยังต้องจัดสรรให้มีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมต่อสภาพของอุปทานที่มีอยู่ ภายใต้ขีดความสามารถของแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับได้ นอกจากนี้ การตลาดจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านการให้การศึกษา ด้านการกระจายรายได้ เป็นต้น
กลยุทธ์ด้านการตลาด เป็นกลยุทธ์ที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานขงการจัดการและการพัฒนาที่มีการดำเนินการอยู่แล้วอย่างมีคุณภาพ โดยต้องจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างความสามารถในการรองรับของพื้นที่กับปริมาณนักท่องเที่ยว ทั้งนี้การตลาดจะต้องพิจารณาการกระจายตัวที่เหมาะสมของอุปสงค์ และสนับสนุนกลยุทธ์ด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
กลยุทธ์ในระยะแรก จึงควรมุ่งเน้นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีศักยภาพ และมีการจัดการรองรับการท่องเที่ยวไว้ค่อนข้างดี ก่อนที่จะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศกว้างขวางออกไป การส่งเสริมการตลาดอย่างเต็มที่ต้องดำเนินการภายหลังการดำเนินการจัดการทรัพยากรที่มีศักยภาพนั้นๆ และมีการสร้างโครงข่ายการท่องเที่ยวที่เหมาะสมแล้วก่อนด้วย
ในกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การจัดการบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พบว่าเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระบบตลาดกับตลาดทรัพยากร หรือให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะการกระจายข้อมูล ข้อสนเทศไปยังนักท่องเที่ยว การนำเที่ยวเป็นองค์ประกอบที่มีศักยภาพที่สุดในการควบคุมพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ การให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว และการควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งเป็นส่วนที่จะส่งเสริมให้เกิดนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพิ่มมากขึ้น โดยมัคคุเทศก์คือ ผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลและรายละเอียดของทรัพยากรการท่องเที่ยว เพื่อการศึกษาแก่นักท่องเที่ยว การเดินทางท่องเที่ยวแบบเอกเทศของนักท่องเที่ยวนั้น จะเกิดประโยชน์ได้น้อยในการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ยกเว้นการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีการจัดการทรัพยากรแบบศึกษาด้วยตนเอง (Self-guide) ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจะมีปริมาณน้อย นอกจากนี้ ตัวกลางนี้ยังจะมีบทบาทที่สัญในการกำกับและควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้อยู่ในกรอบของนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งเป็นผู้ที่จะสามารถสนับสนุนกลยุทธ์การจัดการด้านอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี