Monthly Archives: July 2015

แนวโน้มของการท่องเที่ยวในอนาคต

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตเห็นได้ว่ารูปแบบของการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก จนปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และในอนาคต การท่องเที่ยวยังคงมีการพัฒนาต่อไปซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวออกเป็น 8 ประเด็น ดังนี้

1. การเดินทางท่องเที่ยวแบบคุณภาพ : ประชากรของโลกยังมีความต้องการการเดินทางท่องเที่ยวและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เจตคติของประชากรโลกในการเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป การเดินทางท่องเที่ยวในอนาคตไม่ใช่เป็นการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยอีกต่อไปแต่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาคุณภาพชีวิต

2. การกระตุ้นประชาชนให้เดินทางท่องเที่ยว : การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศอาทิ การลดชั่วโมงการทำงานอย่างในใต้หวันและเกาหลีการสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสพัฒนาประสบการณ์ของตนจากการเดินทางท่องเที่ยว เช่น ประเทศญี่ปุ่น การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิดและภาษีนายจ้างในกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งเป็นการกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากขึ้น

3. นักท่องเที่ยวสามารถจัดการเดินทางด้วยตนเอง : ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการพัฒนาด้านการบินที่มีประสิทธิภาพสูง และช่วยย่นระยะทางในการเดินทางซึ่งเป็นสิ่งเอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในการจัดการเดินทางด้วยตนเองอันเป็นรูปแบบการเดินทางที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น

4. เกิดการแข่งขันระดับโลกและการเดินทางข้ามภูมิภาคจะมีมากขึ้น : แต่ละประเทศยิ่งมีโอกาสในการรับนักท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคในขณะเดียวกันการสูญเสียตลาดนักท่องเที่ยวภายในภูมิภาคจะมีมากเช่นกันระดับการแข่งขันของแต่ละแหล่งท่องเที่ยวจึงเป็นการแข่งขันระดับโลกมากกว่าระดับภูมิภาคอย่างที่ผ่านมา

5. การแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทวีความรุนแรง : อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีสินค้าที่ทุกประเทศมุ่งให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนดังนั้นระดับการแข่งขันในด้านตลาดการท่องเที่ยวจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทศวรรษต่อไปและมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

6. กระแสต่อต้านแหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่พัฒนาแล้ว : กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกมีบทบาทตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 20และแผ่ขยายอย่างต่อเนื่องไปยังกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมีผลให้นักท่องเที่ยวให้ความสนใจต่อการศึกษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการป้องกันทางตรงเพื่อป้องกันการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากกลุ่มประเทศต่าง ๆ พยายามที่จะให้มีการเปิดเสรีทางการท่องเที่ยวมากขึ้นจึงมีการป้องกันการเดินทางในลักษณะทางอ้อมเข้ามาแทนที่ เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและสตรีในบางแหล่งท่องเที่ยวสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อต่อต้านแหล่งท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

7. ความนิยมในการท่องเที่ยวแบบพักผ่อนผสมผสานกับการศึกษาวิถีชีวิต : การท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนยังคงเป็นสัดส่วนที่สูงสุดแต่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การท่องเที่ยวในลักษณะการพักผ่อนผสมผสานกับการศึกษาวิถีชีวิตเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

องค์การท่องเที่ยวโลกคาดสถานการณ์ทิศทางการเติบโตของการท่องเที่ยวโลกในระยะยาวตั้งแต่ปีี พ.ศ.2545 – 2563 ว่าจะมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.1 ต่อปีโดยในปี 2553จะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 1 พันล้านคน และปี 2563 จะมีจำนวน 1.6 พันล้านคน

สรุปได้ว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมื่อพิจารณาในระดับโลกมีการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องปลอดภัย สะอาด และพึงพอใจรูปแบบของการเดินทางมีแรงจูงใจเพื่อการพักผ่อน ศึกษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมีปัจจัยเบี่ยงเบนการเดินทางท่องเที่ยวอันอาจก่อให้เกิดการต่อต้านการเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามกระแสนิยมของโลก เช่น การรักษาสภาพแวดล้อมนอกจากนี้ผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในศตวรรษที่ 21ซึ่งอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นเกิดการจ้างงานความปลอดภัย เป็นต้น และแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถจัดการเดินทางด้วยตนเองมีการแข่งขันในระดับโลกและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความนิยมในการท่องเที่ยวแบบผสมผสานกัน